ไขความลับ วิธีคัดเลือกนักศึกษาของมหาวิทยาลัยระดับโลก ตอนที่2

admission image.001

ในบทความที่แล้ว พี่ได้พูดถึงเกณฑ์ประเมินที่มหาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งใช้ในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 9 ข้อ ดังนี้

  1. Testing
  2. HS Record
  3. GC Record
  4. TE1 Support
  5. TE2 Support
  6. Non- Academic
  7. Self-Presentation
  8. Personal Quality
  9. (Intellectual Vitality)*

* ข้อสุดท้ายนี้ พี่ขอไม่พูดถึง เนื่องจากเป็นหัวข้อเฉพาะของมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว อาจจะปรับใช้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆของอเมริกาไม่ได้

ในบทความตอนที่สองนี้ พี่จะอธิบายถึงเกณฑ์ทั้ง 8 ตัวนี้โดยละเอียด และจะเผยเคล็ดลับในการเขียนเรียงความให้ ‘ตอบโจทย์’ เกณฑ์ประเมินทั้ง 8 ข้อให้ได้มากที่สุดครับ มาดูกันเลยดีกว่าว่า เกณฑ์แต่ละข้อนั้น หมายถึงอะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง

1.Testing

Testing ในที่นี้ หมายถึงคะแนนสอบ SAT, SAT2 สำหรับเด็กที่สมัครจากต่างประเทศจะต้องมีคะแนน TOEFL ด้วย นอกจากนี้ ยังอาจจะมีคะแนนอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น คะแนน ACT  โดยส่วนใหญ่แล้ว มหาวิทยาลัยจะพิจารณาคะแนน SAT และ TOEFL เป็นหลัก และมักจะมีวิธีดูคะแนนแบบตายตัว นักเรียนส่วนใหญ่ที่สอบติดมหาวิทยาลัยระดับ top ten จะต้องมีคะแนน SAT อย่างน้อย 2000 จากคะแนนเต็ม 2400 และควรจะได้คะแนน TOEFL มากกว่า 100  เพื่อเป็นเครื่องวัดว่าผู้สมัครมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ทั้ง พูด อ่าน เขียน อยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถเรียนเป็นภาษาอังกฤษได้ และมีทักษะด้านคณิตศาสตร์และการคิดวิเคราะห์  หากน้องๆสนใจอยากหาข้อมูลเกี่ยวกับช่วงคะแนน SAT และ TOEFL ของแต่ละมหาวิทยาลัย สามารถศึกษาต่อได้ที่ Collegeboard เว็ปนี้เป็นผู้จัดสอบ SAT และมีฐานข้อมูลละเอียดยิบเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยจำนวนมากในอเมริกา

2. HS Record

HS Record ย่อมาจาก High School Record หรือพูดง่ายๆก็คือ Transcript หรือ ใบเกรดในช่วงมัธยมปลายของน้องนั่นเอง  ถึงแม้จะเตรียมตัวมาเรียนต่อต่างประเทศ ก็อย่าเพิ่งทิ้งเกรดที่โรงเรียนนะครับ! เวลาสมัครมหาวิทยาลัย น้องจะต้องส่งใบเกรดช่วงมัธยมปลาย และหากน้องเรียนอยู่โรงเรียนไทย(ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ) น้องอาจจะต้องเขียนอธิบายให้ทางมหาวิทยาลัยทราบด้วยว่า ระบบเกรด 1-4 ของไทยนั้นเป็นอย่างไร  แต่ถึงแม้ว่าน้องจะมีเกรด 3 หรือ 3.5 อยู่บ้างก็ไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยจะให้น้ำหนักกับ คะแนนสอบ SAT และ TOEFL มากกว่า เนื่องจากเป็นข้อสอบที่ได้มาตรฐาน ต่างจากข้อสอบโรงเรียนที่ยากง่ายแตกต่างกันไป

3. GC Record

GC Record หรือ General Counselor Record เป็นเอกสารที่ครูแนะแนว (School Counselor) ส่งให้กับมหาวิทยาลัยที่น้องสมัคร เอกสารนี้ประกอบด้วยสองส่วนสำคัญด้วยกัน คือ 1. ส่วนประเมินศักยภาพของตัวผู้สมัคร และ 2. ส่วนจดหมายรับรอง  ในส่วนแรก ครูแนะแนวจะประเมินว่าน้องมีศักยภาพ มีความโดดเด่นในด้านใดบ้าง เมื่อเทียบกับนักเรียนคนอื่นๆในชั้นเรียน ในส่วนที่สอง ครูแนะแนวจะเขียนจดหมายรับรองให้กับน้อง ซึ่งเนื้อหาของตัวจดหมายจะดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าครูแนะแนวคนนั้นรู้จักตัวน้องดีแค่ไหน  เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว น้องก็ควรพยายามพูดคุยและทำความรู้จักกับครูแนะแนวของน้องให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ GC Record ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

*ข้อมูลเพิ่มเติม: เวลาขอ GC Record จากครูแนะแนวนั้น ส่วนมากจะขอผ่านระบบ CommonApp ซึ่งเป็นระบบสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่แพร่หลายที่สุดในอเมริกา โดยน้องจะต้องบอกกับครูแนะแนวล่วงหน้าว่าจะขอให้เขียน GC Record ให้ และต้องขอ Email จากครูแนะแนวมากรอกลงใน CommonApp หลังจากนั้น ระบบจะส่งไฟล์ไปให้ครูแนะแนวกรอกเอกสาร น้องจะไม่มีโอกาสเห็นเลยว่าครูแนะแนวประเมินน้องอย่างไรบ้าง

4.-5. TE1, TE2 Support

Teacher Evaluation (TE) เป็นเอกสารสำคัญอีกตัวหนึ่งที่ทางมหาวิทยาลัยใช้ในการพิจารณาคัดเลือกนักเรียน  เวลาสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในอเมริกาผ่านระบบ CommonApp น้องจะต้องขอ Teacher Evaluation จากครู 2 ท่านด้วยกัน (ถึงมี TE1 กับ TE 2)  โดยน้องจะขอจดหมายรับรองจากครูท่านใดก็ได้ เพราะฉะนั้นก็ควรขอจากครูที่รู้จักน้องดีที่สุด และถ้าจะให้ดีควรเป็นครูที่สอนในสาขาวิชาที่น้องสนใจ เช่นหากน้องอยากเรียนด้าน physics ก็ควรจะขอจดหมายรับรองจากครูสอนฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับจดหมายรับรองพอสมควร  เพราะเป็นเสมือนหน้าต่างที่เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยใช้ในการดูบุคคลิกและนิสัยของผู้สมัคร เนื่องจากเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยไม่มีทางรู้จักน้องได้ดีพอจากเอกสารเพียงสี่-ห้าหน้า เทียบกับครูของโรงเรียนที่รู้จักน้องมาแล้วเป็นปีๆ   เวลาขอจดหมายรับรองจากครู พี่ขอแนะนำให้น้องไปคุยกับครูคนนั้นก่อน ดูว่าครูยินดีที่จะเขียนให้หรือไม่ และหากเป็นครูที่รู้จักกันดี ก็อาจจะคุยได้ว่าอยากให้เขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง  นอกจากนี้ น้องควรวางแผนแต่เนิ่นๆว่าจะให้ครูคนใดเขียนจดหมายให้ เพราะหากไปขอครูในช่วงท้ายๆของการสมัครมหาวิทยาลัย อาจจะมีนักเรียนมารอคิวขอแล้วหลายคน ทำให้ครูไม่สามารถให้เวลากับน้องได้เต็มที่

>>ข้อ 6-9 เป็นคุณสมบัติที่ทางมหาวิทยาลัยเสาะหาในตัวผู้สมัคร โดยจะดูจากเรียงความที่น้องเขียน และ resume ของน้อง<<

6. Non-Academic

มหาวิทยาลัยในอเมริกาแทบทุกแห่งให้ความสำคัญกับกิจกรรมนอกห้องเรียน หรือ non-academic เช่น เป็นนักกีฬาของโรงเรียน (หรือถ้าจะให้ดีต้องระดับชาติ) มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน เป็นประธานชมรมในโรงเรียน ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าน้องไม่ได้เก่งแต่เรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีบทบาทในกิจกรรมอื่นๆ ทั้งในและนอกโรงเรียน  เคยมีหลายกรณีของผู้สมัครที่สอบได้คะแนนเต็มทุกอย่าง แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่ตอบรับเพราะขาดกิจกรรมนอกห้องเรียน!  เพราะฉะนั้นแล้ว น้องควรหากิจกรรมที่ตนเองชอบและมีส่วนร่วมกับงานต่างๆของโรงเรียนให้มากที่สุด นอกจากจะช่วยให้น้องมีความสุขกับชีวิตในรั้วโรงเรียนแล้ว ยังช่วยให้น้องโดดเด่นกว่าผู้สมัครมหาวิทยาลัยคนอื่นๆด้วย

7.-8. Self-Presentation & Personal Quality

ความสามารถในการแสดงออกตัวตน (Self-Presentation) และ คุณสมบัติส่วนตัว (Personal Quality) เป็นสองสิ่งที่มาควบคู่กัน เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจะวัดสองคุณสมบัตินี้ด้วยเรียงความที่น้องเขียน เรียงความเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีต้องสะท้อนบุคคลิกและลักษณะนิสัยของน้อง และต้องแสดงให้เห็นว่าน้องมีคุณสมบัติบางอย่างที่โดดเด่นและแตกต่างจากผู้สมัครทั่วๆไป  คุณสมบัติที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โต เช่นสอบได้ที่หนึ่งของประเทศ หรือ ตั้งมูลนิธิช่วยโลก แต่ควรเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าน้องแตกต่างจากคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่ทำให้เขาจำน้องได้อีกนานหลังจากที่อ่านเรียงความจบแล้ว  พี่เชื่อว่าน้องทุกคนมีประสบการณ์หรือทักษะบางอย่างที่พิเศษ  แต่จะถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นได้ตรงจุดและตรงใจผู้อ่านหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเขียนเรียงความของน้องครับ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว พอจะหายสงสัยไหมครับ ว่ามหาวิทยาลัยระดับโลกที่ว่ากันว่าติดกันยากๆนั้น เขามีวิธีพิจารณารับนักศึกษาอย่างไร  หวังว่าบทความชิ้นนี้ จะเป็นประโยชน์กับน้องหลายๆคน ที่กำลังคิดวางแผนสมัครเรียนต่อต่างประเทศ หรือหากใครกำลังชั่งใจระหว่างเรียนที่ไทยกับไปต่อเมืองนอก พี่หวังว่าบทความฉบับนี้ จะสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ลองเลือกสมัครมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้อยู่ในประเทศสารขัณฑ์บ้านเรากันบ้างครับ!


For more information, please visit: www.collegement.com

Like us on Facebook!: www.facebook.com/collegement.th

CM_squarelogo

Leave a comment